เลือกเที่ยวตามใจชอบที่ จ.หนองคาย





หนองคาย
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในการปราบกบฏฮ่อเมื่อปี ร.ศ. 105 (พ.ศ. 2429) เสด็จในกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมซึ่งเป็นแม่ทัพปราบกบฏฮ่อในครั้งนั้นรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนความดีของผู้ที่ได้เสียสละชีวิตเพื่อชาติบ้านเมือง ที่อนุสาวรีย์ทั้ง 4 ทิศ มีคำจารึกภาษาไทย จีน ลาว และอังกฤษ มีการจัดงานบวงสรวงและฉลองอนุสาวรีย์ในวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี
วัดโพธิ์ชัย เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระใส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่ชาวเมืองหนองคายนับถือกันมาก หลวงพ่อพระใสเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีลักษณะงดงาม ตำนานเล่าว่า พระธิดา 3 องค์ของกษัตริย์ล้านช้างได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์และขนานนามพระพุทธรูปตามพระนามของตนเอง คือ พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง และพระใสประจำน้องสุดท้อง เดิมประดิษฐานที่กรุงเวียงจันทน์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งสามลงเรือข้ามฝั่งมายังเมืองหนองคาย แต่เกิดพายุพัดพระสุกจมน้ำหายไป ส่วนพระเสริมและพระใสได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่หนองคาย จนในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้อัญเชิญพระเสริมลงมาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ส่วนพระใสยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย ทุกปีในวันเพ็ญกลางเดือน 7 ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญบั้ งไฟบูชาพระใสที่วัดโพธิ์ชัยเป็นประจำ
ตลาดท่าเสด็จ


ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมือง เป็นแหล่งรวมสินค้าที่ในแถบอินโดจีนและยุโรปตะวันออกมีทั้งผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง อาหารแปรรูป และข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า นาฬิกา เครื่องครัว เปิดจำหน่ายทุกวันเวลา 07.00-18.30 น. มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวชมและเลือกซื้อสินค้ามากมาย นอกจากนี้ท่าเสด็จยังเป็นด่านสำหรับคนท้องถิ่นข้ามไปยังลาว ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปต้องใช้ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
พระธาตุหนองคาย หรือ พระธาตุกลางน้ำ เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาทเก้าพระองค์ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่าองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูงประมาณ 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวนมากที่สุด หนังสือประชุมพงศาวดารภาค 70 บันทึกไว้ว่า "พระธาตุเมืองหนองคายได้เพ (พัง) เมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีพุทธศักราช 2390" และตลิ่งได้ถูกน้ำเซาะจนมองเห็นพระธาตุอยู่เกือบกึ่งกลางลำน้ำโขงในปัจจุบัน ศาลาแก้วกู่ หรือที่รู้จักกันในนามวัดแขก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคาย 3 กิโลเมตร ตามเส้นทางไปโพนพิสัย อยู่ด้านขวามือ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกะสมาคมจังหวัดหนองคาย สถานที่ซึ่งคล้ายพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแสดงรูปปั้นทางศาสนาแห่งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของหลวงปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ ซึ่งได้สร้างสถานที่แห่งนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนทุกศาสนา สามารถนำมาผสมผสานได้ งานปั้นอันใหญ่โตอลังการนี้มีทั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รูปเทพฮินดูต่าง ๆ รูปปั้นเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ รูปปั้นเล่าเรื่องรามเกียรติ์และตำนานพื้นบ้าน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท
หาดจอมมณี อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร ตามถนนเลียบแม่น้ำโขง เป็นหาดทรายริมแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ชายหาดมีความยาวประมาณ 200 เมตร ช่วงที่เหมาะในการไปเที่ยวคือเดือนเมษายน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวในจังหวัดและจากบริเวณจังหวัดใกล้เคียง เดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นจำนวนมาก จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "พัทยาอีสาน" อีกทั้งทิวทัศน์ในบริเวณหาดทรายยังสามารถมองเห็นบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ได้อย่างชัดเจน
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปจากอำเภอเมืองหนองคายไปยังเมืองท่าเดื่อ ของลาวซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์ ประมาณ 20 กิโลเมตร สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ลาว และไทย นับว่าเป็นสะพานที่สร้างค
 วามสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวทั่วไปที่ต้องการเดินทางจากหนองคายไปเวียงจันทน์จำเป็นต้องใช้สะพานแห่งนี้ ตัวสะพานมีความยาว 1.20 กิโลเมตร กว้าง 15 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ เชิงสะพานมีด่านตรวจคนเข้าเมืองและศูนย์ให้บริการข่าวสารท่องเที่ยวของ ททท. ตั้งอยู่
พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 23 กิโลเมตร โดยเดินทางจากตัวเมืองหนองค
 ายมาตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 ทางไปท่าบ่อ ถึงกม. 10 วัดอยู่ด้านขวามือ พระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุ เดิมสร้างด้วยอิฐเผา ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น เป็นสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด เจดีย์องค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆัง มีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร ชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งฉัตร สูงจากพื้นดิน 34.25 เมตร ชาวหนองคายจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 11 ค่ำเดือนยี่ของทุกปี ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่ สัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้วและได้เสด็จประทับเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน และสระปัพพฬนา
 ค หรือสระพญานาค ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งเจ้าเมือง ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล
หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง การเดินทางจากตัวเมืองหนองคายใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ทางไปอุดรธานี เลี้ยวเข้าเส้นทางหมายเลข 211 สายหนองคาย-ท่าบ่อ ถึง กม.ที่ 31 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 43 กิโลเมตร หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทอง ฝีมือของช่างฝ่ายเหนือและช่างล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3.29 เมตร สูง 4 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก จากหลักฐานศิลาจารึกทำให้ทราบว่
า พระเจ้าองค์ตื้อสร้างเมื่อพุทธศักราช 2105 ผู้สร้างคือ พระไชยเชษฐา กษัตริย์นครเวียง หล่อโดยใช้ทองคำ ทองเหลือง และเงินผสมกัน รวมน้ำหนักได้ 1 ตื้อ (ตื้อ เป็น มาตราโบราณของอีสาน) ใช้เวลาในการสร้าง 7 ปี 7 เดือน ทางจังหวัดได้จัดงานนมัสการหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
หมู่บ้านประมงน้ำจืด อยู่ที่ตำบลกองนาง ตามเส้นทางท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านมีอาชีพทำการประมงน้ำจืด มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่างๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไน ปลานวลจันทร์ ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลาหัวโต และปลาดุกเทศ โดยจัดส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน



หมู่บ้านทำแผ่นยอ อยู่บริเวณเส้นทางจากหนองสองห้องไปอำเภอท่าบ่อ จะมองเห็นตะแกรงไม้ไผ่ตากแผ่นยออยู่เป็นระยะริมถนน เแผ่นกระยอเป็นแผ่นแป้งซึ่งเป็นส่วนประกอบสำหรับทำอาหารเวียดนาม เช่น ปอเปี๊ยะและแหนมเนือง มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของหนองคาย
พระสุธรรมเจดีย์ วัดอรัญญบรรพต ตั้งอยู่ริมถนนสายศรีเชียงใหม่-สังคม ตำบลบ้านหม้อ อำเภอศรีเชียงใหม่ เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และและเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ก่อสร้างโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อถวายหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เกจิอาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มากมาย มีการจัดงานบุญใหญ่ในเดือนมกราคมของทุกปี
วัดหินหมากเป้ง ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) ถึง กม. 64 วัดจะอยู่ริมถนนด้านขวามือ รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 75 กิโลเมตร มีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ บริเวณวัดโดยรอบสะอาด เรียบร้อยและเงียบสงบ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขงซึ่งมองเห็นทัศนียภาพสวยงาม อาจารย์เทสก์ เทสรังสี เกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสาน ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย หลังจากท่านมรณภาพ มีการก่อสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน ภายในมีรูปปั้นของอาจารย์เทสก์ พร้อมจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและชีวประวัติของท่านอีกด้วย
น้ำตกธารทอง อยู่ในเขตบ้านผาตั้ง หมู่ที่ 1 ตำบลผาตั้ง การเดินทางใช้เส้นทางหนองคาย-ศรีเชียงใหม่-สังคม (ทางหลวงหมายเลข 211) ผ่านบ้านไทยเจริญ แล้วต่อไปบ้านผาตั้ง บริเวณหลัก กม.ที่ 74 ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 11 กิโลเมตร น้ำตกธารทองจะอยู่ริมทางด้านขวามือ ส่วนด้านซ้ายมือของถนนเป็นบริเวณลานจอดรถ น้ำตกธารทองมีลักษณะเป็นธารน้ำไหลไปตามลานหิน มีแอ่งน้ำให้เล่นน้ำได้ ก่อนจะลดระดับเกิดเป็นชั้นน้ำตกเล็ก ๆ เป็นระยะลดหลั่นกันไปประมาณ 30 เมตรและไหลลงสู่ลำน้ำโขงในที่สุด ช่วงเวลาที่มีน้ำมากเหมาะแก่การมาเที่ยวชมคือระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม บริเวณโดยรอบเป็นสวนรุกขชาติมีป่าไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น
น้ำตกธารทิพย์ อยู่เลยอำเภอสังคมไปประมาณ 9 กิโลเมตร โดยเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 211 ถึงบริเวณ กม. 97-98 มีป้ายบอกทางเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อถึงลานจอดรถต้องเดินเท้าอีก 100 เมตรจึงถึงตัวน้ำตก น้ำตกธารทิพย์ เป็นน้ำตกที่สูงและสวยงามท่ามกลางป่าเขียวขจี แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ด้านล่างเป็นน้ำตกชั้นแรกสูงประมาณ 30 เมตร ไหลจากหน้าผาเป็นสายยาวสีขาวสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 100 เมตร ต้องปีนขึ้นไปตามเส้นทางที่ทำไว้ และชั้นที่ 3 สูงประมาณ 70 เมตร มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี และจะมีน้ำมากในฤดูฝน
ศูนย์วิจัยพืชสวนหนองคาย ตั้งอยู่ที่ถนนหนองคาย-บึงกาฬ (ทางหลวงหมายเลข 212) ประมาณ 63 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางแยกขวาที่บ้านนายางเข้าไปอีก 200 เมตร เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำโขงจึงทำให้เป็นเขตที่มีความชุ่มชื้นสูงหลากหลายไปด้วยพันธุ์ไม้ที่ทดลองปลูกซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ทั่วบริเวณ ได้แก่ แปลงไม้ผล มีทุเรียน มังคุด ลองกอง มะม่วงหิมพานต์ รวมทั้งพันธุ์ไม้พื้นบ้านที่ได้อนุรักษ์ไว้เช่น ต้นมะเกี๋ยงที่นำไปทำไวน์และน้ำมะเกี๋ยง แปลงผักพื้นบ้านที่ชาวอีสานนิยมนำไปจิ้มน้ำพริก แนมลาบ เช่น กระเจียว ผักกาดย่า ส้มโมง ผักหวานป่า แปลงรวบรวมพันธุ์ไม้หอมกว่า 100 ชนิด และสมุนไพรพื้นถิ่นภาคอีสาน ในช่วงฤดูหนาวมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวสีสันสวยงามด้วย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง สอบถามรายละเอียด โทร. 0 4242 1257
วัดสว่างอารมณ์ (วัดถ้ำศรีธน) จากตัวเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 212 ไป 90 กิโลเมตร ถึงอำเภอปากคาด มีทางแยกขวาเข้าวัดไปอีก 500 เมตร วัดสว่างอารมณ์ตั้งอยู่บริเวณลานหินเนินเขา ร่มรื่นด้วยต้นไม้และลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่าน บริเวณใต้โขดหินใหญ่ประดิษฐานพระนอนให้ผู้คนสักการะบูชา บนโขดหินมีอุโบสถทรงระฆังคว่ำ หากขึ้นไปถึงด้านบนสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลจนถึงฝั่งลาว
ภูทอก อยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 163 กิโลเมตร จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร ภูทอกในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว อยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง เป็นภูเขาหินทรายโดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล ประกอบด้วย ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย แต่ก่อนบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ
ภูทอกน้อยเป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยต้องเดินไปตามสะพานไม้เวียนวนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด สะพานไม้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากเหล่าพระ เณร และชาวบ้าน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปี บันไดที่ทอดขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะสู่โลกแห่งโลกุตระหรือโลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น ภูทอกยังคงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน ดังนั้นผู้ที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ควรอยู่ในความสงบและเคารพสถานที่ บันไดขึ้นภูทอกแบ่งออกเป็น 7 ชั้น แตกต่างกันดังนี้
ชั้นที่ 1-2 เป็นบันไดสู่ชั้นที่ 3 ซึ่งเริ่มเป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหิน ลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลย ซึ่งเป็นทางชันมาก ผ่านหลืบหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4
ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า "ดงชมพู" ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดงดิบ บนชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
ชั้นที่ 5 มีศาลาและกุฏิที่อาศัยของพระ ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างหลายแห่ง มีหน้าผาชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต เป็นต้น ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พระวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน ผู้คนส่วนใหญ่มักหยุดการเดินทางเพียงแค่นี้ เพราะจากชั้นที่ 6 สู่ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้เวียนรอบเขายาว 400 เมตร เกาะติดอยู่ริมหน้าผาสูงชันดูน่าหวาดเสียวอันตราย มีความยาว 400 เมตร สุดทางที่ชั้น 7 เป็นป่าไม้ร่มครึ้ม
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว มีเนื้อที่ประมาณ 186 ตารางกิโลเมตร หรือ 116,562 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอำเภอบึงกาฬ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอเซกา และอำเภอบึงโขงหลง เกือบติดพรมแดนประเทศลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 150-300 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น บางส่วนเป็นสันเขาหินทราย ลานหินและทุ่งหญ้า ที่ทำการเขตฯ ตั้งอยู่ที่บ้านดอนจิก ซึ่งอยู่เลยอำเภอบุ่งคล้ามา 3 กิโลเมตรมีทางแยกขวาไปอีก 6 กิโลเมตร
การเดินทางท่องเที่ยวประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวด้วยตนเองได้ แต่หากต้องการความสะดวกสบายสามารถใช้บริการนำเที่ยวจากบริษัทที่ได้รับอนุญาตตามกฏหมาย ด่านจะเปิดทุกวันระหว่างเวลา 06.00-22.00 น.
เอกสารประกอบการเดินทาง
ชาวไทย ต้องทำบัตรผ่านแดนที่ศาลากลางจังหวัดหนองคาย (โทร. 0 4241 1778) ซึ่งเปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุด ค่าธรรมเนียมคนละ 40 บาท หรือติดต่อผ่านบริษัททัวร์ที่รับดำเนินการให้ ค่าบริการ 100 บาท เอกสารประกอบการทำบัตรผ่านแดนคือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและรูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป กรณีผู้ติดตามอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาสูติบัตรแทนสำเนาบัตรประชาชน และนำบัตรผ่านแดนไปประทับตราที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ค่าธรรมเนียมฝั่งไทย 10 บาท ค่าธรรมเนียมฝั่งลาว วันจันทร์-ศุกร์ 50 บาท เสาร์-อาทิตย์ 70 บาท อายุบัตรผ่านแดน 3 วัน หากอยู่เกินต้องขอต่อที่กระทรวงภายใน สปป.ลาว และใช้ได้เฉพาะการเดินทางไปเมืองชายแดนไทย-ลาวไม่เกิน 25 กิโลเมตร หากเดินทางไปเมืองอื่นต้องใช้หนังสือเดินทางพร้อมวีซ่า
ชาวต่างประเทศ ต้องใช้หนังสือเดินทาง (Passport) พร้อมวีซ่า โดยยื่นขอวีซ่าได้ที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย 520/1-3 ซอยรามคำแหง 39 แขวงวังทองหลาง เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โทร. 0 2539 6667 หรือสถานกงสุลลาว 18/1-3 ถนนโพธิสถิตย์ บ้านโนนทัน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. 0 4322 1861, 0 4322 3688 ทั้งนี้ต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนเข้าประเทศอย่างน้อย 3 วันทำการ สามารถติดต่อบริษัทนำเที่ยวดำเนินการให้ได้ อนุญาตให้อยู่ในลาวได้ 30 วัน หรือติดต่อขอ visa on arrival ได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของสปป.ลาว อยู่ในลาวได้ 15 วัน
การนำรถยนต์ออก-เข้าประเทศ ต้องทำเอกสารนำรถออกและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด สามารถติดต่อบริษัททัวร์ในหนองคายดำเนินการให้ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ด่านศุลกากรจังหวัด โทร. 0 4241 1518, 0 4242 1468-9 โทรสาร 0 4241 2654
การเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว มีรถประจำทางข้ามสะพาน ค่าบริการคนละ 20 บาท หลังจากนั้นต้องเช่ารถจากด่าน สปป. ลาวเพื่อไปยังเวียงจันทน์ รถตู้วันละ 800 บาท รถแท็กซี่ 500 บาท รถตุ๊กตุ๊ก 400 บาท รถพาเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองเวียงจันทน์ได้แก่ ตลาดเช้า พระบาทหลวง อนุสาวรีย์ประตูชัย หอพระแก้ว และวัดต่าง ๆ
บริการนำเที่ยวประเทศลาว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัทนำเที่ยวต่าง ๆ ในจังหวัดหนองคาย อัตราค่าบริการนำเที่ยวขึ้นอยู่กับจำนวนวันเดินทางและจำนวนนักท่องเที่ยว

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความสุข ความสงบ ณ วัดภูเก็ต อ.ปัว จ.น่าน

วัดศรีมงคล (ก๋ง) อ.ท่าวังผา จ.น่าน