พม่า บทความ

   
ประเทศพม่า   มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า (  Republic of the Union of Myanmar ) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคาบสมุทรอินโดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด และมีพรมแดนทางแผ่นดินติดต่อกับสองประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลก ได้แก่ จีน และอินเดีย แต่เดิมชาวตะวันตกเรียกประเทศนี้ว่า Burma จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.  ๒๕๓๒ พม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น Myanmar ชื่อใหม่นี้เป็นที่ยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ แต่บางชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ไม่ยอมรับการเปลี่ยนชื่อนี้ เนื่องจากไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่ เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ ปัจจุบันหลายคนใช้คำว่า Myanmar ซึ่งมาจากชื่อประเทศในภาษาพม่าว่า Myanma Naingngandaw ไม่ว่าจะมีความเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลทหารอย่างไรก็ตาม คำว่าเมียนมาร์ เป็นการทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า Myanmar แต่ความจริงแล้ว ชาวพม่าเรียกชื่อประเทศตนเองว่า มยะหม่า/เมียนมา ส่วนสื่อไทยมักสะกดว่า เมียนมาร์
ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีประชาชนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เผ่าพันธุ์เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏได้แก่มอญ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่  ๑๓ ชาวพม่าได้อพยพลงมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา ความซับซ้อนของประวัติศาสตร์พม่ามิได้เกิดขึ้นจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอันได้แก่ จีน อินเดีย บังกลาเทศ ลาว และไทยอีกด้วย (ข้อมูลจากวิกิมีเดีย)
เมื่อปี  ๒๕๕๒ และ  ๒๕๕๓ ได้มีโอกาสไปเยือนประเทศพม่า มีคนถามว่าไปทำไมตั้ง    ครั้ง ติดต่อกัน ไม่เบื่อหรือ คำตอบก็คือเพราะติดใจความเป็นธรรมชาติ วัฒนธรรมและเมืองแห่งพระพุทธศาสนา ครั้งแรกที่ไปต้นปี. ๒๕๕๒ เพื่อน ๆที่ทำงานชวนกันไปเที่ยว ก็คิดว่าไปประเทศปิดจะมีอะไร แต่เมื่อไปแล้วพบว่า พม่ามีอะไรน่าสนใจเยอะแยะไปหมด  นับตั้งแต่ลงจากเครื่องมา พบไกค์ ที่มีอัธยาศัย ที่เป็นมิตร พูดไทยได้แม้ว่าเสียจะแปร่ง ๆไปเหมือนคนงานพม่าในไทยนั่นแหละ  เพราะเคยมาทำงานในไทยหลายแห่ง ได้พาพวกเราไปที่หงสาวดี นั่งรถไปประมาณ ๓ ชั่วโมง  ตลอด ๒ ข้างทางเหมือนไทยเราประมาณ  ๓๐ ปีที่ผ่านมา ยังได้เห็นกระท่อมหลังคามุงจากแบบที่อยู่ใน ส.ค.ส. ให้ดู แต่อากาศสดชื่นดีมาก  ถึงหงสาวดีได้ไปพระราชวังบุเรงนอง ที่ขึ้นชื่อในวรรณกรรม ผู้ชนะสิบทิศ พระราชวังของพระองค์ที่หงสาวดี มีชื่อว่า "กัมโพชธานี" (Kamboza Thadi Palace) นับว่าเป็นพระราชวังที่ใหญ่โตสมพระเกียรติ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.  ๒๑๐๙ เป็นปีที่  ๑๕ ของการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เรืองอำนาจสูงสุด พระองค์ตัดสินพระทัยเผาพระราชวังเก่าไปเนื่องจากมีการกบฏ พระราชวังกัมโพชธานีสร้างขึ้นโดยใช้แรงงานจากประเทศราชต่าง ๆ และพระองค์โปรดให้ใช้ชื่อประตูต่าง ๆ ตามชื่อของแรงงานประเทศราชที่สร้าง เช่น ประตูทางตอนเหนือปรากฏชื่อ ประตูโยเดีย (อยุธยา) ประตูตอนใต้ชื่อ ประตูเชียงใหม่ เป็นต้น
พระเจ้าบุเรงนอง (Bayinnaung) ราชาพม่าพระองค์ที่ ๓ ในราชวงศ์ตองอู อาจเรียกได้ว่า เป็นราชาพม่าองค์ที่คนไทยหรือชาวต่างชาติ รู้จักดีที่สุดก็ว่าได้ เนื่องด้วยเกียรติประวัติอันเลื่องลือ จนมีฉายาว่า "พระเจ้าชนะสิบทิศ" อีกทั้งยังมีวรรณคดีประเภท นิยายปลอมพงศาวดารชื่อดังที่มีพระองค์เป็นตัวเอกของเรื่อง คือ "ผู้ชนะสิบทิศ" ด้วย ซึ่งได้มีการนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ในภายหลังหลายต่อหลายครั้ง
พระเจ้าบุเรงนอง ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น  ๑๒ ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.  ๒๐๕๙ ก่อนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เพียง ๑ เดือน ตามความเชื่อของคนทั่วไป เชื่อว่าพระนามดั้งเดิมของพระองค์คือ "จะเด็ด" (ตามนิยายผู้ชนะสิบทิศ) แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนามดั้งเดิมของพระองค์อาจออกเสียงว่า "จะเต็ด" โดยอาจแปลได้ว่า "เจ้าปลวกไต่" (จะ หมายถึง ปลวก เต็ด หมายถึง ไต่ หรือ ป่ายปีน) และมีอีกหนึ่งหลักฐานที่ระบุว่า พระนามดั้งเดิมคือ "เชงเยทุต" โดยแปลได้ว่า "เจ้ายอดผู้กล้า" (เชง เป็นคำที่เรียกหน้าชื่อบุคคลสำคัญ เย หมายความว่า กล้าหาญ และ ทุต อาจแปลได้หลากหลาย แต่ในบริบทเช่นนี้ควรแปลว่า ยอด)





พระเจ้าบุเรงนอง ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ กำเนิดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ข้อเท็จจริงแล้ว พระองค์เองมีเชื้อกษัตริย์ในตัว โดยเป็นบุตรชายของ เมงเยสีหตู ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมงเยสีหตูผู้นี้ เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย และได้รับการอวยยศเป็นถึง เจ้าเมืองตองอู เมืองหลวงอีกด้วย
 ในวัยเยาว์ พระเจ้าบุเรงนองเติบโตมาพร้อมกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แม้มิได้เป็นพระญาติกันโดยสายเลือด แต่ทั้ง ๒ ก็มีความผูกพันกันเหมือนพระญาติ เนื่องจาก เมงเยสีหตู บิดาของพระเจ้าบุเรงนองก็เป็นบุคคลที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เคารพ โดยมีฐานะเป็นถึง พระอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา และเป็นขุนนางคนสำคัญ  มีสถานะอีกด้านเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ด้วย โดยบุตรสาวของเมงเยสีหตู ก็เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็ง ชะเวตี้นามว่าพระนางตะเกงจีก็เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ด้วยเช่นกัน
พระเจ้าบุเรงนองก่อนขึ้นครองราชย์ มีสถานะเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระนามของพระเจ้าบุเรงนอง ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า "บาเยนอง" มีความหมายว่า "พระเชษฐาธิราช" และมีพระนามเต็มว่า "บาเยนองจอเดงนรธา" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "บุเรงนองกะยอดินนรธา") แปลว่า "พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภินิหาร" โดยพระนามนี้ เชื่อว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระราชทานให้ หลังจากพระเจ้าบุเรงนองชนะศึกนองโย อันเป็นศึกไล่ตามทัพของพระเจ้าสการะวุตพี กษัตริย์มอญ ที่เสียกรุงหงสาวดีให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อันเป็นเกียรติประวัติที่เลืองลือครั้งแรก ๆ ของพระองค์ และชาวตะวันตกรู้จักพระองค์ในพระนาม "บราจินโนโค่" (Braginoco)

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่า ก่อนพระองค์จะออกทำศึกคราวใด จะทรงนมัสการพระธาตุชเวมอดอ หรือที่ชาวไทยเรียกตามชาวมอญว่า พระธาตุมุเตา พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองหงสาวดีก่อนทุกครั้ง  ไม่เพียงแต่มิติของการเป็นนักรบเท่านั้น พระเจ้าบุเรงนองยังถือว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่เก่งกาจอีกด้วย ด้วยการสามารถปกครองและบริหารข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราช เช่น การยึดเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญ ๆ ของประเทศราชต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ ประกัน เป็นต้น

เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.  ๒๐๙๔ ด้วยการปราบดาภิเษก เพราะมีกบฏเกิดขึ้นมากมาย ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้  พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.  ๒๑๒๔ ด้วยอาการพระประชวร ขณะยกทัพไปตียะไข่ ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ของพระองค์มีต่าง ๆ มากมายหลายที่ในประเทศพม่า
พระราชวัง"กัมโพชธานี" ที่เห็นเป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นใหม่ เพราะของเดิมถูกเผาทำลายไปหมด เป็นพระราชวังที่สร้างด้วยไม้ ปิดทองเหลืองอร่าม ภายในท้องพระโรงมีแสดงเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ของใช้ประจำตัว มีกรุ๊ปทัวร์ไปเป็นระยะ ๆ แต่ตำหนักตรงข้ามกับพระราชวังที่ประทับว่ากันว่าเป็นตำหนักของพระสุพรรณกัลยา ที่เหลือเพียงแต่ตอหม้อเท่านั้น
 เมื่อเข้ามาถึงหงสาวดี จะเจอพระเจดีย์องค์ใหญ่สีทองเด่นเป็นสง่า นั่นก็คือ เจดีย์ชเวมอดอร์ เมืองหงสาวดี หรือที่เราเรียกกันว่า พระธาตุมุเตา เป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุรวม ๒ เส้น มีอายุเก่าแก่กว่า  ๒,๐๐๐ ปี เป็นที่เคารพสักการะของทั้งกษัตริย์ มอญ พม่า และไทย เช่น พระเจ้าราชาธิราชของมอญ พระเจ้าบุเรงนองของพม่า และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทย
สถานที่ต่อไปที่พวกเราไปก็คือ พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจก์โถ่  รัฐมอญ อยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งประมาณ  ๑๘๐ กิโลเมตร ต้องจอดรถตู้ไว้ที่ตลาด คิมปูนแค้มป์ (เชิงเขาไจ้เที่ยว ระยะทาง  ๑๗๐กิโลเมตร) ใช้เวลา  ๔-๕ ชั่วโมง
เพราะอยู่บนหน้าผาสูงกว่า  ๑,๒๐๐ เมตร เส้นทางไปคดเคี้ยว และขรุขระ ต้องขึ้นรถ ๖ ล้อ ยากดีมีจนเหมือนกันหมด พวกเราเรียกว่ารถหมู (ระยะทาง  ๘ กิโลเมตร) วิ่งไปประมาณ  ๔๕ นาที โดยยอดโซเฟอร์ที่ใช้ความเร็วสุดยอด เลี้ยวทีตัวผู้โดยสารเอนไปมา กว่าจะถึงที่แทบอาเจียน เมื่อถึงตีนเขายังต้องนั่งเสลี่ยงหรือเดินเท้าขึ้นไปอีกค่านั่งเสลี่ยงก็ประมาณ  


๗๐๐ -๘๐๐บาท (ไปส่งและรับกลับในวันรุ่งขึ้น)  แต่ก็คุ้มกว่าที่จะเดินขึ้นไปเอง ใช้เวลาอีกครึ่งชั่วโมงเป็นการเดินทางที่สนุกไปอีกแบบ แต่อากาศเย็นดีมาก เส้นทางเดินเท้าสู่พระธาตุอินทร์แขวน เป็นถนนแบบคอนกรีต สามารถเดินแบบสบาย ๆ แต่ชันสักหน่อย มีที่หยุดพักตลอดเส้นทาง สองข้างทางก็จะผ่านบ้านชาวบ้านและช่วงสุดท้ายก็จะเดินตามถนนก็ได้หรือเลือกเดินทางลัดก็ได้ โดยผ่านบ้านชาวบ้าน ระยะทางประมาณ  ๒๐๐ เมตร พอขึ้นไปถึงยอดก็เข้าโรงแรมที่พัก ชื่อ ไจ้ก์ทีโย เป็นโรงแรมของรัฐบาลทั้งหมด ห้องพักแบบธรรมดา มีพัดลมกับน้ำอุ่นเท่านั้น ไม่มีเครื่องปรับอากาศเพราะอากาศเย็นมาก  มีก้อนเมฆลอยไปมาผ่านตัวเรา เหมือนอยู่บนวิมานอย่างไงอย่างงั้น หลังจากนั้นก็เดินขึ้นไปสู่หน้าผาที่มีองค์พระธาตุประดิษฐานอยู่


พระธาตุอินทร์แขวน ไจก์ทิโย   เชื่อกันว่าพระอินทร์เสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ เพื่อนำเอาพระธาตุมาแขวนไว้ให้ผู้มีบุญมากราบไหว้ ใครได้มาสักการะก็เท่ากับได้ไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ และจะได้สั่งสมอานิสงส์ให้ไปเกิดร่วมยุคกับพระศรีอาริยเมตตรัย และผู้ที่มีบุญก็จะสามารถมองเป็นองค์พระธาตุลอยอยู่อย่างชัดเจน พระธาตุอินทร์แขวน สร้างตั้งไว้บนก้อนหิน สูงถึง  ๕.๕ เมตร เส้นรอบวงของก้อนหินราว  ๑๗ เมตร มองดูคล้ายก้อนหินตั้งอยู่หมิ่นเหม่ใกล้จะตกลงมาเต็มที 
ได้เห็นความมหัศจรรย์ของการสร้าง แทบไม่หน้าเชื่อเลยว่าก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ว่ากันว่าแม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวก็หาได้ทำให้พระธาตุล้มลงมาได้ พวกเราได้ดื่มด่ำกับการสวดมนต์ไหว้พระธาตุ ตลอดเวลามีชาวพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว พากันไหว้และสวดมนต์เป็นภาพที่หาดูได้ยากในประเทศไทยเรา คนที่ไปวัดมีแต่ผู้สูงอายุแทบทั้งนั้น บริเวณลานพระธาตุสะอาดสะอ้าน อ้อลืมบอกไป ถ้าจะไปเที่ยวพม่าไม่ต้องใส่รองเท้าดี ๆ ไปหลอก เพราะคุณจะต้องถอดรองเท้าเดินเข้าไป ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนต้องปฏิบัติเหมือนกันหมด และวัดที่น่าท่องเที่ยว ไปไหว้พระก็มีมากมาย ยิ่งว่าทัวร์ไหว้พระ ๙ วัด เรียกได้ว่า แทบไม่ต้องใส่รองเท้าก็ว่าได้ ตลอดเวลาพวกเราใส่แต่รองเท้าแตะ เพราะถอดง่ายใส่ง่าย
รุ่งขั้นตอนเช้าก็พากันลงมาจากพระธาตุอินแขวงด้วยวิธีการเดียวกับขามา แต่ดีกว่านิดตอนนั่งรถหมูเพราะเป็นขาลง ถึงเร็วดี พวกเราเดินทางต่อไปที่ย่างกุ้ง ซึ่งมีไฮไลท์ของการทัวร์ทั้ง ๒ ครั้งคือ มหาเจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้ง ที่ใครมาพม่าแล้วไม่ได้ไปเหมือนกับมาไม่ถึงพม่า            มหาเจดีย์ชเวดากอง กรุงย่างกุ้ง เป็นมหาเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ รวม ๘ เส้น ของพระพุทธเจ้า มีประวัติตำนานเก่าแก่กว่า  ๒,๐๐๐ ปี ตั้งแต่ครั้งที่ย่างกุ้งยังเป็นดินแดนของมอญมีชื่อเดิมว่าดากองหรือ ตะเกิงก่อนจะถูกพม่ายึดครองไป แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นย่างกุ้ง” “ชเวดากองแปลว่าเจดีย์ทองแห่งเมืองดากองมหาเจดีย์แห่งนี้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาด้วยกันหลายครั้ง โดยเฉพาะมีโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ของมอญและพม่าที่จะขึ้นครองราชย์ บัลลังก์ จะต้องถวายทองคำหนักเท่ากับน้ำหนักของพระองค์เอง เพื่อนำมาห้อหุ้มองค์พระเจดีย์ ซึ่งถือกันว่าเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชาวพุทธ แห่งลุ่มน้ำอิระวดีที่สำคัญที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน
  เล่าว่าพระมหากษัตริย์มอญคือพระเจ้าโอกะลาปะ ทรงเลื่อมใสในศรัทธาพระพุทธศาสนา ได้ทรงก่อสร้างองค์พระเจดีย์
ชเวดากองขึ้นมาเมื่อกว่า  ๒,๐๐๐ ปี ก่อน ต่อมาพระมหากษัตริย์มอญและพม่าแทบทุกพระองค์ได้ถือเป็นพระราชภารกิจในการก่อ เสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง  ๓๒๖  ฟุต กว้าง  ๑,๓๕๕ ฟุตในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสมัยพระนางซินสอบู หรือนางพระยาตะละแม่ท้าวเจ้า กษัตรีมอญผู้ครองเมืองหงสาวดี ได้ทรงริเริ่มธรรมเนียมบริจาคทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองในการบูรณะพระมหา เจดีย์ นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๑๙๙๖ (ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตยโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา) จนกลายเป็นพระราชพิธีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา
วันนี้มหาเจดีย์ ชเวดากองมีทองคำโอบหุ้มอยู่เป็นน้ำหนักถึง  ๑,๑๐๐ กิโลกรัม โดยช่างชาวพม่า จะใช้ทองคำแท้ตีเป็นแผ่นปิดองค์เจดีย์ไว้รอบองค์ หากสังเกตในรายละเอียดจะเห็นรอบต่อของแผ่นทองคำ ซึ่งมิได้ผสานเป็นเนื้อเดียว แต่จะเป็นแผ่นๆ มาเรียกกัน ครั้งเมื่อแผ่นทองหมองคล้ำก็จะถอดหมุดแล้วแกะแผ่นทองออกมาขัดล้างปีละครั้ง เป็นประเพณีสืบเนื่องกันมาตลอด ตัวพระเจดีย์อยู่สูงจากพื้นล่างประมาณตึก ๓ ชั้น เวลาขึ้นต้องขึ้นลีฟไป แต่มีบันไดให้เดินขึ้นไปเช่นกัน
รอบๆองค์พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นลานกว้างรองรับแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนได้จำนวนมาก บริเวณทางขึ้นทั้งสี่ทิศจะมีวิหารโถง สร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระ
                                                                                                                                                                                               
                                                                                                                                                                                                               
ประธานสำหรับให้ประชาชนมากราบไหว้บูชา เพราะชาวมอญและชาวพม่าถือการกราบไหว้บูชาเจดีย์ชเวดากองเป็นนิตย์ จะนำมาซึ่งบุญกุศลอันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล บ้างนั่งทำสมาธิเจริญสติภาวนานับลูกประคำ และบ้างเดินประทักษัณรอบองค์เจดีย์ ที่แปลกก็คือได้เห็นวัยรุ่นหนุ่มสาวมานั่งสนทนาธรรมและสวดมนต์  ซึ่งเราไม่สามารถเห็นในไทยเช่นกัน 
นอกจากนี้รอบองค์เจดีย์ยังมีพระประจำวันเกิดประดิษฐานทั้งแปดทิศรวม ๘ องค์ หากใครเกิดวันไหนก็ให้ไปสรงน้ำพระประจำวันเกิดตน จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สุวรรณฉัตร หรือ ทององค์ใหญ่บนยอดเจดีย์ชเวดากองเคยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเท่าที่มีการ บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พม่า  ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ รัชสมัยพระเจ้าฉินบูชิน ทรงถวายสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ รูปทรงพม่า แทนองค์เดิมที่เป็นรูปทรงมอญ โดยโปรดฯให้ระฆังเงินระฆังทองและทองแดง รวม  ๖๐๐ ใบ และมีเพชรประดับโดยรอบด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน % ต่อมาเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเหตุให้สุวรรณฉัตร หักตกลงมา จึงมีการบูรณะครั้งที่สองในปี พ.ศ.๒๔๑๔ รัชสมัยพระเจ้ามินดง โดยทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างฉัตรใหม่ จนร่ำลือกันว่า ยอดฉัตรแห่งชเวดากองนั้นประดับประดาด้วยเพชรพลอยอัญมณีล้ำค่า คิดเป็นมูลค่ากว่า  ๖๒,๐๐๐ ปอนด์ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะยอดเจดีย์ประดับระฆังใบเล็กถึง  ๕,๐๐๐ ใบ ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.  ๒๕๔๒ พุทธศาสนิกชนชาวมอญพม่าได้พร้อมใจกันเปลี่ยนสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ ถวายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งมีผู้มีจิตศรัทธาแห่งแหนมามืดฟ้ามัวดิน ร่วมทำบุญ ถวายปัจจัย บางคนถึงกับถอดแหวนเพชร สร้อยทองเครื่องประดับอัญมณีนานาชนิดประดับสุวรรณฉัตรองค์ใหม่ด้วยแรงศรัทธา สูงส่ง
ตัวมหาเจดีย์สวยสง่างามสีทองอร่าม มีความสูงถึง  ๓๒๖ ฟุต ไกค์พาไปดูยอดสุวรรณฉัตร ซึ่งมีอัญมณีประดับ หากเดินไปตามมุมต่าง ๆก็จะเห็นแสงที่มีสีสันแตกต่างกัน สวยงามมาก ผู้คนมากันมากมาย โดยเฉพาะเมื่อไปครั้งที่ ๒ ตรงกับวันอาสาฬหบูชา ซึ่งแปลกกว่าไทยเราที่นั่นไม่มีการเวียนเทียนเหมือนไทย แต่ผู้คนจะพากันไปไว้พระเจดีย์กันอย่างคับคั่ง
ค่ำวันนั้น พวกเราไปทานอาหารที่ภัตตาคารการะเวก รูปเรือ หัวเรือเป็นหงส์ สวยงาม ตั้งอยู่กลางบึงใหญ่ กลางเมืองย่างกุ้ง ก่อนเข้าไปในภัตตาคารมีพนักงานต้อนรับแต่งกายชุดพม่า และด้านขวามีคู่บ่าวสาวนั่งให้เราถ่ายรูปกัน วันนั้นได้ดูการแสดงของพม่า ส่วนใหญ่ท่าร่ายรำคล้าย ๆกับหุ่มกระบอกของพม่า มีแปลกคือมีการเชิดช้างตัวใหญ่เท่าของจริงแทนการเชิดสิงโตแบบบ้านเรา สนุกสนานดี อาหารมีทั้งยุโรป พม่า จีน และไทยซึ่งมีส้มตำอยู่ในรายการอาหารแบบบุฟเฟ่ด้วย รับประทานอาหารไปดูการแสดงไป เจริญอาหารมาก 
วันรุ่งขึ้นได้ไป สิเรียม (Syriem) สิเรียมเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงจุดบรรจบของแม่น้ำหงสาและแม่น้ำย่างกุ้ง ซึ่งในอดีตเมืองนี้เป็นเมืองท่าสำคัญในการเดินเรือของชาวโปรตุเกส ปัจจุบันเมืองสิเรียมเป็นเมืองอุตสาหกรรม ชาวเมืองส่วนใหญ่ทำงานในโรงกลั่นน้ำมันหรือไม่ก็เป็นลูกจ้างในโรงเบียร์ ประชากรส่วนมากเป็นชาวพม่าเชื้อชายอินเดีย เพราะในสมัยที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ สิเรียมเป็นศูนย์กลางของเมืองท่าและยังเป็นแหล่งผลิตอาหารส่งสู่กรุง ย่างกุ้ง และอังกฤษต้องเกณฑ์แรงงานอินดียมาทำนา แล้วพากันมาปักหลักทำมาหากินกันจนถึงปัจจุบนี้
  สิเรียม มีพื้นที่มีสภาพเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นแหล่งอูข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ทำให้เป็นที่หมายปองของชาวต่างชาติในยุคล่าอาณานิคม มีชาวโปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอนลันดาต่างก็แย่งกันขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้
 หลังจากหมดยุคอันเกรียงไกรของอาณาจักรหงสาวดี สิ้นบุญพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากบุเรงนองคือพระเจ้านันทบุเรง พระองค์ทรงอ่อนแอจนบรรดาประเทศราชประกาศแยกตัวเป็นอิสระ แม้กระทั่งกองทหารและชาวบ้านก็หลบลี้หนีหาย จนอาณาจักรหงสาวดีที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรแทบกลายเป็นเมืองร้าง กองทัพชาวยะไข่ จากรัฐอาระกัน ก็บุกเข้ามาปล้นสะดมแล้วเผาเมืองโดยง่าย พวกยะไข่มีกองทัพที่เข้มแข็งและยังมีทหารรับจ้างเป็นชาวโปรุเกสที่เชี่ยวชาญการรบ เมื่อครั้นเคลื่อนพลมาหงสาวดีก็ตั้งกองทัพเรือที่เมืองสิเรียม ครั้นเสร็จศึกสงคราม ก็ปูนบำเหน็จให้ทหารรับจ้างโปรตุเกสชื่อฟิลิป เดอ บริโต ยี นิโคเต เป็นเจ้าเมืองสิเรียม ตั้งแต่นั้นมาเมืองสิเรียมก็เป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลแทนหงสาวดี
ฟิลิป เดอ บริโต ยี นิโคเต ปกครองเมืองสิเรียม  ๑๓ ปี ได้ทำลายดินแดนพระพุทธศาสนา ยึดทรัพย์สินและบังคับให้ชาวเมืองสิเรียมเข้ารีตเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอริก ให้ทำลายรูปปั้นในศาสนาอื่น โดยเฉพาะวัดในพุทธศาสนา กอบโกยผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่างไปจาก


เมืองสิเรียม จนพระเจ้าอนอคะเปตลุน กษัตริย์พม่า มาล้อมเมืองสิเรียม จับ เดอ บริโต เสียบประจานรับโทษทัณฑ์สูงสุดตามกบิลเมืองพม่าที่กำหนดไว้สำหรับผู้ที่ปล้นวัดวาอาราม ทนทุกข์ทรมานอยู่สามวันจึงตาย
หลังจากการตายของเดอ บริโต เมืองสิเรียมตกอยู่ในอำนาจของพม่าบ้าง มอญบ้าง ไทยบ้างกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๒๘ พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕  อังกฤษได้พัฒนาเมืองสิเรียมเป็นเมืองอุตสาหกรรมและแหล่งปลูกข้าวตราบจนปัจจุบัน
พระเกศาธาตุเจดีย์โบดาทาวน์   เจดีย์โบดาทาวน์ แปลว่า เจดีย์นายทหาร  ๑,๐๐๐ นาย ตามตำนานเล่าขานว่า เมื่อราว  ๒,๐๐๐ ปีก่อน พระเจ้าโอกะลาปะ กษัตริย์มอญทรงบัญชาให้นายทหารระดับแม่ทัพตั้งแถวถวายสักการะแด่พระเกศาธาตุ ที่นายวาณิชสองพี่น้องอัญเชิญมาทางเรือและมาขึ้นฝั่งเมืองตะเกิงหรือดากอง ณ บริเวณนี้ จึงสร้างเจดีย์โบตะทาวน์ไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระพุทธเกศา ๑ เส้น มาบรรจุไว้ ก่อนนำไปบรรจุในมหาเจดีย์เวดากองและเจดีย์สำคัญอื่นๆ เจดีย์โบดาทาวน์จึงเป็นหนึ่งในมหาบูชาสถานของชาวมอญและพม่าเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดถล่มย่างกุ้ง ทำให้เจดีย์โบดาทาวน์องค์เดิมถูกทำลายพินาศ แต่ในระหว่างการบูรณะได้ค้นพบผอบทรงสถูปบรรจุพระเกศธาตุและพระบรม สารีริกธาตุ

เจดีย์โบดาทาวน์องค์ใหม่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ.  ๒๔๙๖ จึงนำพระเกศธาตุมาบรรจุในมณฑปครอบแก้วใส ประดิษฐาน ณ ใจกลางเจดีย์ และทำช่องทางให้
อีกที่หนึ่งที่พลาดไม่ได้คือ เทพทันใจ (นัตโบโบยี) เทพผู้ปกปักรักษาและบันดาลโชค วิธีการสักการะรูปปั้นเทพทันใจ (นัตโบโบยี) เพื่อขอสิ่งใดแล้วสมตามความปราถนาก็ ให้เอาดอกไม้ ผลไม้ โดยเฉพาะมะพร้าวอ่อน กล้วย หรือผลไม้อื่นๆมาสักการะ นัตโบโบยี จะชอบมาก จากนั้นก็ให้เอาเงินจะเป็นดอลล่า บาท หรือจ๊าด ก็ได้ (แต่แนะนำให้เอาเงินบาทดีกว่าเพราะเราเป็นคนไทย) แล้วเอาไปใส่มือของนัตโบโบยีสัก ๒ ใบ ไหว้ขอพรแล้วดึกกลับมา ๑ ใบ เอามาเก็บรักษาไว้ จากนั้นก็เอาหน้าผากไปแตะกับนิ้วชี้ของนัตโบโบยี แค่นี้ท่านก็จะสมตามความปรารถนาที่ขอไว้   ที่นี่มีคนไทยมาเที่ยวกันเยอะ ไม่รู้มาขออะไรกัน เสียพูดภาษาไทยดังลั่นไปหมด
 จากการได้ไปท่องเที่ยวพม่าทั้ง  ๒ ครั้ง พบว่าคนพม่ายังรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของเขา  ผู้คนยังแต่การพื้นเมืองสรวมใส่ สะโหร่ง  โดยเฉพาะไกค์ ต้องแต่งตัวอย่างเคร่งครัดตามที่รัฐบาลสั่ง ถามว่าทำไมคนพม่ายังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ไม่เหมือนคนไทยบางคนที่นับถือศาสนาพุทธแค่ปรากฏในทะเบียนบ้าน ทุกวัดที่พวกเราไปนั้น จะมีชาวพม่าทุกเพศทุกวัย  นั่งสวดมนต์กันทั้งวัน  บางคนก็มากวาดลานวัด วัดในพม่าสะอาดทุกวัด ไม่มีสุนัขหรือแมววิ่งเพ่นพล่านเหมือนไทย เงียบสงบสมกับเป็นศาสนสถาน  ทุกแห่งเหลืองอร่ามสมกับเป็นสุวรรณภูมิจริง ๆ อากาศก็ดีไม่มีมลพิษรบกวน  ไกค์ได้ตอบคำถามเราว่าเป็นเพราะรัฐบาลทหารกดขี่ ให้ชาวพม่าต้องคิดและปฏิบัติตามคำสั่ง คนพม่าเลยต้องหันมาหาที่พึ่งทางใจคือศาสนา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า พม่าเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนาจริง ๆ  สำหรับฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านมาถึงแค่เทพทันใจกันก่อนนะค่ะ มีสถานที่ทางพระพุทธศาสนาอีกมากมายหลายสิบแห่งที่ได้ไปมา ซึ่งแต่ละแห่งน่าสนใจและมีเรื่องราวมากมาย ฉบับหน้าจะนำมาเสนอต่อ สวัสดีค่ะ




โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความสุข ความสงบ ณ วัดภูเก็ต อ.ปัว จ.น่าน

วัดศรีมงคล (ก๋ง) อ.ท่าวังผา จ.น่าน